วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความจำกับการเรียนหนังสือ

        สำหรับการเรียนหนังสือแล้ว "ความจำ"เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบทความนี้ เราจะพูดถึงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า มีผลให้ความจำดีขึ้นและเรียนรู้ได้มากขึ้น

          จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความจำของมนุษย์กับสิ่งที่ได้รับฟัง สามารถวาดแผนภาพความจำได้เทียบกับเวลาที่ผ่านไปหลังจากการรับรู้ข้อมูลได้ดังภาพประกอบ
แผนภาพความจำได้เทียบกับเวลาที่ผ่านไปหลังจากการรับรู้ข้อมูล

          ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จากเวลาที่เราเริ่มรับข้อมูลด้วยการฟังอย่างเดียวนั้น ความจำได้จะลดลงตามเวลา แต่ถ้าหากเราฟังไปด้วย จดไปด้วย และคิดตามไปด้วย ความจำได้จะลดลงช้ากว่าการฟังอย่างเดียวมาก นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการที่ครูค่อยๆ เขียนกระดานและให้นักเรียนค่อยๆ จดตามไปนั้น ส่งผลดีต่อความจำมากกว่าการปิ้งแผ่นใสหรือฉายไฟล์เพาว์เวอร์พ้อยท์นอกจากนี้ การคุยไปด้วย ตั้งคำถามให้นักเรียนได้มีโอกาสคิดตามไปด้วย ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อความจำ วิธีตรวจสอบว่านักเรียนคิดตามหรือไม่ ก็คือการขอให้นักเรียนตอบออกมาดังๆ
          เทคนิคการเพิ่มความจำอีกอย่างคือการให้การบ้านและขอให้นักเรียนทบทวน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นความทรงจำ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางสมองแนะนำเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการทบทวน ดังนี้
          1. ควรให้การบ้านในปริมาณที่เหมาะสม เช่น การบ้านที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
          2. ควรทิ้งช่วงเวลาในการทบทวนให้เหมาะสม นักจิตวิทยาแนะนำว่า การทบทวนถี่ๆ เกินไปจะส่งผลเสีย เพราะจิตใต้สำนึกจะคอยบอกว่า ตรงนี้รู้แล้ว ตรงนี้จำได้ ผลก็คือเราจะอ่านทบทวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
          3. ขณะทบทวนให้ตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ ตั้งคำถามเยอะๆ ตอบเยอะๆ ใช้เครื่องช่วยอย่างเช่น flashcards
          4. พยายามเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ๆ เข้ากับความรู้ที่มีอยู่เดิมจะทำให้จำได้ดีขึ้น วิธีที่จะเชื่อมโยงข้อมูลได้ดีวิธีหนึ่งคือการวาดแผนภาพหรือการทำ mind map การสอนของครูก็ควรมีส่วนที่เชื่อมโยงความรู้เก่าที่สอนไปแล้วเข้ากับความรู้ใหม่ๆ ที่กำลังจะสอนด้วย
          5. การหลับหลังจากการทบทวนอย่างเต็มที่จะทำให้เซลล์สมองเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมต่อกัน เพิ่มพลังให้แก่ความจำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
         สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ หากครูมีวิธีที่ทำให้นักเรียนชอบหรือว่ารักหรือว่าหลงใหลในเนื้อหาวิชาแล้ว ครูจะพบว่านักเรียนจะเฝ้าครุ่นคิดถึงมันและจะจำได้จนไม่มีวันลืม แต่ถ้าหากครูทำให้นักเรียนรู้สึกหดหู่ เจ็บปวด หรือว่าทรมานกับเนื้อหาวิชาแล้ว ผลที่ได้จะกลับเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว
          สุดท้ายที่จะขอฝากไว้ตรงนี้คือทัศนคติต่อการเรียนรู้ นักเรียนโดยทั่วไปจะมีทัศนคติว่าตนเองมีความสามารถในการเรียนรู้ที่จำกัด จะไม่สามารถเรียนรู้ของที่ยากเกินว่าขีดจำกัดหนึ่งซึ่งพวกเขาสร้างมันขึ้นมาในจิตใจ ข้อจำกัดนี้เป็นทั้งข้ออ้างและตัวขัดขวางการเรียนรู้ของนักเรียนคนนั้นๆ ดังนั้นครูจำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นลักษณะของการเจริญงอกงาม โดยใช้แนวคิดที่ว่า ภายใต้กลยุทธ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม ให้เวลากับการเรียนรู้อย่างเพียงพอ และใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ดี จะทำให้ความสามารถของนักเรียนค่อยๆ เติบโต และเจริญงอกงาม จนกระทั่งสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ แม้แต่สิ่งที่ยากที่สุด แล้วจะไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับการเรียนรู้อีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น